อุดฟันด้วยเซรามิก
การบูรณะฟันที่ทันตแพทย์เลือกใช้มีหลายวิธี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเนื้อฟันส่วนที่เหลือ หากเนื้อฟันเหลืออยู่มากพอที่จะทำการยึดวัสดุ ก็ใช้วิธีอุดธรรมดาได้ ถ้าเนื้อฟันเหลือน้อยก็คงไม่พอที่จะมีแรงยึดวัสดุได้ อาจต้องทำ inlay หรือ onlay
อินเลย์ ออนเลย์ คือการบูรณะฟันในกรณีที่ฟันมีการผุหรือแตกที่ใหญ่ ซึ่งถ้าทำการบูรณะฟันด้วยวัสดุอุดฟันปกติที่ใช้โดยทั่วไปจะไม่แข็งแรงพอ ซึ่งเป็นการทำชิ้นวัสดุที่เป็นการบูรณะฟันมาเป็นชิ้นให้มีขนาดพอดีกับเนื้อฟันที่ถูกกรอออกไป จากนั้นจึงนำมาติดบนฟันโดยมีตัวยึดให้ชิ้นวัสดุนี้ติดแน่นให้อยู่กับตัวฟัน ส่วนการทำครอบฟัน ส่วนใหญ่จะทำในรายที่สูญเสียเนื้อฟันไปมาก ทำให้ต้องบูรณะขึ้นมาใหม่ทั้งซี่เพื่อมาครอบตัวฟันส่วนที่เหลืออยู่
การบูรณะฟันประเภทนี้มี ข้อดีคือสามารถรักษาเนื้อฟันที่ดีไว้ได้มากกว่าการทำครอบฟันซึ่งต้องมีการกรอเนื้อฟันที่ดีออกไปมากกว่าโดยไม่จำเป็น
ขั้นตอนการทำอินเลย์ /ออนเลย์
- ทำการกรอฟันพื่อเตรียมเนื้อฟัน
- พิมพ์ปากและนำส่งแลปเพื่อขึ้นรูปชิ้นงานขึ้นมา
- ทำการยึดติดชิ้นงานลงไปที่ฟัน
ประเภทของวัสดุที่นำมาใช้อุดฟัน
- คอมโพสิตเรซิน เป็นวัสดุสีที่เหมือนกับฟัน มีให้เลือกหลายเฉดสี ให้เข้ากับสีฟันของแต่ละบุคคล ซึ่งวัสดุอุดฟันแบบสีเหมือนฟันนี้สามารถใช้อุดได้ทั้งฟันหน้า และฟันหลัง สามารถแต่งรูปทรงได้ง่าย ให้ความสวยงาม และมีความเป็นธรรมชาติสูง ซึ่งหลังจากทันตแพทย์ใส่วัสดุคอมโพสิตแล้วต้องฉายแสงจากเครื่องฉายแสงทางทันตกรรม เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้วัสดุแข็งตัว จึงทำให้หลังจากทำเสร็จสามารถใช้งานฟันได้ทันที แต่การอุดฟันประเภทนี้จะไม่สามารถใช้อุดฟันบริเวณกว้างมากนั้น เพราะอายุการใช้งานของคอมโพสิตเรซินน้อยกว่าวัสดุอมัลกัม และมีความแข็งแรงน้อยกว่า แต่มีข้อดีตรงที่การกรอเนื้อฟันจะน้อย และให้สีที่เหมือนฟันได้ จึงเหมาะกับการอุดฟันด้านหน้าที่ต้องการความสวยงาม และความเป็นธรรมชาติ
- พอร์ชเลน หรือ เซรามิก เป็นการอุดฟันในกรณีที่ฟันมีการผุ หรือแตกขนาดใหญ่ ซึ่งวัสดุอุดฟันปกติไม่แข็งแรงพอจะนำมาบูรณะได้ โดยการอุดฟันด้วยพอร์ซเลนนี้ จะต้องสร้างชิ้นงานจากห้องแล็บก่อน แล้วนำชิ้นงานมายึดกับฟันที่มีการกรอแต่งไว้ สามารถทำสีให้เข้ากับสีฟันของคนไข้ได้ และมีความทนทานต่อการใช้งานได้สูง