สะพานฟัน
สะพานฟัน เป็นการทำฟันปลอมแบบติดแน่นที่ใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปได้ ด้วยวิธีการกรอฟันด้านข้างของฟันที่หายไปทั้งสองด้าน เพื่อใช้เป็นฟันหลักในการยึดติดสะพานฟัน ซึ่งเป็นการทดแทนฟันที่สูญเสียไปได้อย่างถาวร มีความสวยงาม กลมกลืนเหมือนฟันธรรมชาติ เพราะไม่มีตะขอเกี่ยว ไม่มีเหงือกปลอม เหมือนฟันปลอมประเภทถอดได้ สะพานฟันจึงเป็นการทดแทนฟันที่ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ และสามารถบดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการทำสะพานฟัน
การทำสะพานฟันจำเป็นต้องทำหลายขั้นตอน เพื่อให้ได้สะพานฟันที่พอดีกับช่องปากของแต่ละบุคคล โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนดังนี้
นัดครั้งที่ 1 :
– ทันตแพทย์จะทำการตรวจสภาพช่องปาก โดยเฉพาะตรงบริเวณที่จะทำสะพานฟันว่าฟันที่ใช้เป็นหลักยึดมีความแข็งแรงและสมบูรณ์แค่ไหน
– ทำการกรอฟัน โดยเริ่มจากการใส่ยาชาเพื่อระงับอาการเจ็บ แล้วทำการกรอฟันหลัก โดยจะเป็นฟันซี่ข้างๆ ของช่องฟันที่หายไป เพื่อใช้เป็นหลักยึดสะพานฟัน
– เมื่อกรอฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ฟัน แล้วส่งโมเดลที่ได้ไปทำสะพานฟันที่ห้องแลป โดยจะเลือกสีฟันให้ตรงกับฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ โดยใช้เวลาในการทำประมาณ 1 สัปดาห์
– ระหว่างรอสะพานฟันถาวร ทันตแพทย์จะทำการใส่สะพานฟันชั่วคราวให้คนไข้ เพื่อให้คนไข้สามารถบดเคี้ยวอาหารได้เป็นปกติ และคงตำแหน่งของฟันซี่ที่กรอไปไม่ให้มีการขยับ
นัดครั้งที่ 2 :
– เมื่อได้สะพานฟันถาวรแล้ว ทันตแพทย์จะทำการนัดครั้งที่ 2 โดยเริ่มจากการรื้อสะพานฟันชั่วคราวออก
– ติดสะพานฟันถาวรลงไป โดยแพทย์จะนำมาลองสวมว่าพอดีกับฟันและช่องปากของเราหรือไม่ ตรวจสอบความแนบแน่น รูปร่าง ความสูงของสะพานฟันอย่างละเอียด เมื่อปรับจนเข้าที่แล้ว ทันตแพทย์จะทำการยึดสะพานฟันกับฟันหลักด้วยซีเมนต์ที่ใช้เฉพาะในปาก
– เมื่อติดสะพานฟันเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์อาจมีการนัดเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยเมื่อใช้งานไปแล้วอีกครั้ง
วัสดุที่ใช้ทำสะพานฟัน
การทำสะพานฟัน สามารถเลือกวัสดุที่ใช้ในการทำสะพานฟันได้หลายประเภท แต่ต้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สูญเสียฟันด้วย โดยมีวัสดุให้เลือกดังนี้
– ประเภทเซรามิกผสมโลหะ จะให้สีสันที่เหมือนฟันจริง และมีความแข็งแรงทนต่อการบดเคี้ยว สามารถทดแทนฟันบริเวณที่ใช้งานหนักอย่างเช่นกรามได้
– แบบเซรามิกล้วน ใช้ทดแทนฟันหน้า เพราะเซรามิกล้วนจะมีความใส สวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ กว่าประเภทอื่นๆ
– แบบโลหะล้วน (ทอง) เหมาะสำหรับฟันกราม เพราะสะพานฟันประเภทนี้มีความแข็งแรงและทนทานมากที่สุด ทนต่อการกัดกร่อนและบิ่นได้ดี ไม่แตกเหมือนเซรามิก แต่จะมีสีที่ไม่สวย มีผลต่อความสวยงามดูไม่เป็นธรรมชาติ
ข้อดีของการทำสะพานฟัน
– การปล่อยให้ฟันมีช่องว่าเป็นเวลานานๆ จะทำให้ฟันที่อยู่ด้านข้างล้ม เอียง เก จนทำให้ฟันทั้งหมดเสียโครงสร้าง ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้อย่างสมบูรณ์ และยังทำให้เกิดความไม่สวยงามอีกด้วย
– ช่วยให้ผู้ทำมีความมั่นใจในการพูด การยิ้ม การรับประทานอาหาร เพราะไม่ต้องถอดๆ ใส่ๆ เหมือนฟันปลอม และยังสามารถใช้งานได้ดีเหมือนฟันธรรมชาติอีกด้วย
– อาจเป็นบ่อเกิดของโรคเหงือก เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ฟันแต่ละซี่จะช่วยเสริมและแบ่งเบาน้ำหนักซึ่งกันและกัน เอนผิงกันอย่างมีนัยสำคัญ เวลาบดเคี้ยวอาหาร เมื่อขาดฟันซี่ใดซี่หนึ่ง อาจทำให้แรงกดบริเวณนั้น กดลงสู่เหงือกและเนื้อเยื่อบริเวณช่องปากมากเกินไปอีกด้วย
ข้อเสียของการทำสะพานฟัน
– ต้องกรอเนื้อฟันดีๆ ที่อยู่ด้านข้างออกไป เพื่อใช้เป็นหลักยึดสะพานฟัน
– ราคาสูงกว่าฟันเทียมแบบถอดได้
สะพานฟัน เป็นการทดแทนฟันที่เหมาะสำหรับคนที่มีช่องว่างของฟันไม่เกิน 2-3 ซี่เท่านั้น ไม่สามารถทำได้ทุกกรณีเหมือนกับฟันปลอมชนิดถอดได้ แต่เมื่อทำแล้วให้ความเป็นธรรมชาติ และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าฟันปลอมชนิดถอดได้